อาหารปีใหม่ของคนญี่ปุ่น

::: UPDATE : 2016-05-27 17:24:57

โอะเซจิเรียวหริ (お節料理 Osechi-ryori)

โอะเซจิเรียวหริ คืออาหารปีใหม่ตามประเพณีนิยม เมื่อถึงปลายปีแม่บ้านทั้งหลาย
จะวุ่นวายอยู่กับการเตรียมโอะเซจิเรียวหริ ซึ่งจะแต่ละครอบครัว แต่ละภูมิภาค
ก็จะมีการปรุงอาหารที่แตกต่างกัน

ในสมัยก่อนอาหารปีใหม่ถูกเตรียมไว้ในปริมาณมาก บรรจุกล่องสี่เหลี่ยม 3- 4 ชั้น
ที่เรียกว่า จูบะโกะ (重箱) มีลักษณะคล้ายกับกล่องเบนโตะ ซึ่งจูบะโกะจะถูกเก็บไว้โดยการซ้อนกัน
สำหรับรับประทานในสามวันแรกของปีใหม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้แม่บ้านได้พักผ่อนจากการทำอาหารอีกด้วย

ระยะหลังๆ นี้ รสนิยมของผู้คนเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับที่อาหารการกินถูกอิทธิพลอาหารตะวันตกครอบงำ
จำนวนครอบครัวที่ทำอาหารปีใหม่ไว้รับประทานเองจึงน้อยลง ช่วงปลายปีตามมุมขายอาหารในห้างสรรพสินค้า
นอกจากจะมีอาหารปีใหม่แบบประเพณีนิยมแล้ว ยังมีอาหารปีใหม่แบบตะวันตกและจีนอีกด้วย

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป โอะเซจิเรียวหริก็ยังเป็นอาหารจำเป็นสำหรับคนญี่ปุ่น เพื่อเตือนให้รู้ถึงการมาเยือนของปีใหม่
โอะเซจิเรียวหริที่บรรจุในจูบะโกะแต่ละชั้นตามประเพณีนิยมมีดังนี้
ชั้นที่ 1 เป็นอาหารอย่างแรก มีมันฝรั่งบดที่มีรสหวานกับเกาลัดหวาน, เนื้อปลาต้มบด,
ไข่ม้วน, อาหารประเภทปลา, ไข่ปลาเฮอร์ริ่งเค็ม, ปลาซาร์ดีนตากแห้ง, ถั่วดำ
ชั้นที่ 2 เป็นอาหารประเภทปิ้งย่าง มีปลากระพงแดงย่างเกลือ, ปลาบู่ย่างซีอิ๊วกับมินริน, ไก่อบ
ชั้นที่ 3 เป็นอาหารประเภทต้มซีอิ้ว มีเผือกต้ม, โกะโบ(รากผักชนิดหนึ่ง), แครอท, สาหร่ายม้วน
ชั้นที่ 4 เป็นสลัดปรุงรสด้วยน้ำส้ม หัวไชเท้ากับแครอทดองส้ม


ตัวอย่างความหมายบางส่วนของอาหารโอะเซจิเรียวหริ
ไดได (橙) หรือ ส้มจี๊ดญี่ปุ่น ไดไดนั้นมีความหมาย คือ “จากรุ่นสู่รุ่น” เมื่อเขียนแบบคันจิ จะเขียนได้ว่า 代 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาสำหรับเด็กในวันขึ้นปีใหม่
ดะเตะมะกิ (伊達巻/ 伊達巻き) หรือไข่เจียวม้วน ซึ่งมีลักษณะการเจียวไม่เหมือนกับไข่เจียวธรรมดา อาจจะผสมไปด้วยกุ้งหรือปลาบด เป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาสำหรับวันมหามงคล
คะมะโบะโกะ (蒲鉾) เนื้อปลาบดนึ่งเป็นก้อน จะถูกหั่นแล้วจัดวางสลับกันเป็นชิ้นสีแดง (หรือชมพู) และขาว จากสีนั้นมีความหมายถึงอาทิตย์อุทัยของญี่ปุ่น
คะซุโนะโกะ (数の子) หรือไข่ปลาแฮร์ริง คะซุ มีความหมายว่า “จำนวน” ส่วน โนะโกะ มีความหมายว้า “เด็ก” หรือก็คือ “เด็กจำนวนมาก” ในเทศกาลปีใหม่นั่นเอง
คมบุ (昆布) เป็นสาหร่ายประเภทหนึ่ง มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่า “โยะโระโกะบุ” (喜ぶ) ซึ่งมีความหมายว่า “ยินดี”
คุโระมะเมะ (黒豆) หรือ ถั่วเหลืองดำ มีความนุ่มกำลังดี มะเมะ มีความหมายว่า “สุขภาพ” ซึ่งก็คือปรารถนาให้สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
โคฮะกุนะมะซุ (紅白なます) เป็นผักสีขาว-แดง ที่นิยมทำเป็นก้อน ซึ่งทำมาจาก แครอทซอย และ ผักกาดหัวซอย และแช่ในน้ำส้มสายชูชนิดพิเศษ
ไต (鯛) หรือปลาบรีมทะเลสีแดง ไทมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า เมะเดะไต สัญลักษณ์ของเทศกาลอันเป็นมงคล
อะวะซุเกะ (粟漬)ปลาโคะโนะชิโระก่อนที่จะเจริญเติบโตเต็มที่ ต้มแล้วหมักในน้ำส้มสายชู ใส่สีเหลืองที่ทำจากดอกการ์ดิเนีย เป็นการขอพรให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีไม่มีอุปสรรค
เอะบิ (エビ) กุ้งซึ่งปรุงรสด้วยสาเกและซอสถั่วเหลือง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
หนังสือ shikitari, wikipedia, pinterest, flickr